นักพัฒนาชุมชน : รับป.ตรีทุกสาขา เหมาะสำหรับคนชอบงานชุมชน |
|
อ้างอิง
อ่าน 314 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
แนะนำตำแหน่ง 'นักพัฒนาชุมชน' : รับป.ตรีทุกสาขา เหมาะสำหรับคนชอบงานชุมชน
สวัสดีครับ
จากนี้ไปจะแนะนำตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่น่าสนใจและจัดอยู่ในตำแหน่งตัวเต็งที่จะเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีอยู่หลากหลายตำแหน่ง ผมจะค่อยทยอยแนะนำให้รับทราบต่อไปครับ
กระทู้นี้ ขอแนะนำตำแหน่ง 'นักพัฒนาชุมชน'
นักพัฒนาชุมชน คือ
ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน คือ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีสายงานเริ่มต้นในระดับ 3 หมายถึงเมื่อเริ่มบรรจุในตำแหน่งนี้ ท่านคือข้าราชการซี 3 ครับ ในความเห็นส่วนตัว นักพัฒนาชุมชนเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากๆ เพราะต้องรับผิดชอบงาน (เกือบ) ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสตรี กลุ่มคณะกรรมการชุมชน ตลอดจนผู้พิการผู้ด้อยโอกาส ... ในบาง อปท. ก็จะมีเพียง นักพัฒนาชุมชน คนเดียวเท่านั้นจึงต้องรับผิดชอบงานหลายด้านเป็นพิเศษ
สำหรับงานหลักๆ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-ผู้พิการ และงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น จัดทำโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน , การจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน หรือแม้กระทั่งรับผิดชอบการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชน (ถ้า อปท. นั้นมี) ฯลฯ
แต่งานที่ผมประทับใจสำหรับ นักพัฒนาชุมชน คือ การสำรวจติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาส เพราะบางครั้งการห่างเหินจากการลงพื้นที่สำรวจ จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสบางท่านไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือสนับสนุนเท่าที่ควร ซึ่งทุกครั้งที่ได้รับการประสานจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ก็จะได้รับการสงเคราะห์ตามกำลัง
สำหรับนักพัฒนาชุมชน จะได้รับสิ่งหนึ่งที่มีค่ามากกว่าเงินเดือน เหนือว่าโบนัส คือ เมื่อลงพื้นที่ และทำงานจบสัก 1 เคสแล้ว จะได้รับ 'รอยยิ้มและคำขอบคุณจากประชาชน' รอยยิ้มจะไม่ใช่แค่ปรากฎอยู่ตรงหน้าคุณแล้วเลือนหายไป แต่รอยยิ้มจากผู้ด้อยโอกาส รอยยิ้มจากคนที่เราช่วยเหลือ จะยังคงประทับใจเราไปอีกนาน ทุกครั้งที่ท้อ ที่เหนื่อย ก็นึกถึงทีไร ก็มีความสุขทุกครั้งครับ ซึ่งเงินไม่สามารถซื้อความรู้สึกดีๆเช่นนี้ได้
หากท่านมีจิตสาธารณะ ชอบงานสังคม ลงพื้นที่ สัมผัสชุมชน นิยมงานนอกสถานที่มากกว่านั่งห้องแอร์ ผมขอแนะนำ ตำแหน่ง 'นักพัฒนาชุมชน' ครับ

ภาพประกอบจาก เพจสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเลย
หน้าที่นักพัฒนาชุมชน
เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นปฏิบัติงานที่ยากพอสมควรเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เช่น สำรวจข้อมูลเบื้องต้นในเขตพัฒนาชุมชน เพื่อจัดทำแผนงาน ดำเนินการและสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของประชาชนประเภทต่าง ๆ แสวงหาผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้นำและเป็นที่ปรึกษากลุ่มในการพัฒนาชุมชน ดูแลส่งเสริมประชาชนให้มีความสนใจ ความเข้าใจและความคิดริเริ่มในการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นของตน ร่วมทำงานพัฒนากับประชาชนในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำและฝึกอบรมประชาชนในท้องถิ่นตามวิธีการและหลักการพัฒนาชุมชน เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ต่อครอบครัวในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมในครัวเรือน อำนวยความสะดวกและประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ติดตามผลงานและจัดทำรายงานต่าง ๆ เป็นต้น และปฏิบัติหนาที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย
ความน่าสนใจของตำแหน่งนี้
1. เหมาะสำหรับท่านที่ชื่นชอบรักงานชุมชน และมีจิตสาธารณะ เข้ากับคนอื่นได้ดี
2. เป็นตำแหน่งที่ทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ไม่แปลกเลยที่ประชาชนทุกคนจะหลงรักคุณ ให้ความร่วมมือกับคุณ
3. ปัจจุบันนักพัฒนาชุมชนที่ขึ้นบัญชีผู้สอบได้ของ กสถ. ไว้ เหลือเพียงอีกประมาณ 10 คนเท่านั้น
4. นักพัฒนาชุมชน จะเป็นปากเป็นเสียงสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรและประชาชน
5. นักพัฒนาชุมชน รับผู้มีวุฒิปริญญาตรี ทุกสาขาวิชา ไม่ว่าจะจบเอกใหม่ๆ ชื่อแปลก ขอเพียง ก.พ. รับรอง สมัครสอบได้แน่นอน
6. จะมีงานใหม่ๆ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ให้นักพัฒนาชุมชนได้ทำอยู่เสมอ ไม่จำเจ
คุณวุฒิที่ต้องมีสำหรับตำแหน่งนี้
ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ทุกสาขาที่ ก กลาง รับรอง หรือได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงบัณฑิตอาสาสมัคร
ความเติบโตในสายงาน 'นักพัฒนาชุมชน'
ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนั้น นักพัฒนาชุมชนจะเลื่อนระดับไปได้จนถึงระดับ นักพัฒนาชุมชน 7
แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อครองตำแหน่งถึงระดับ 6 ก็จะสอบขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่าย (นักบริหาร) กัน
เพื่อรอวันเติบโตขึ้นเป็นผู้อำนวยการกองต่อไป
นักวิชาการศึกษา สอบบรรจุอย่างไร
เริ่มต้นให้เตรียมตัวสอบในภาค ก (ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป)
จากนั้นอ่านหนังสือเตรียมสอบในภาค ข โดยขอบเขตเนื้อหาที่เคยถูกกำหนดไว้ มีดังนี้
1. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540
2. พระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547
3. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548
4. ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสตรี พ.ศ. 2538
5. ความรู้ที่เกี่ยวกับงานตาม 'ลักษณะงานที่ปฏิบัติ' ของตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน
สรุป
สำหรับท่านที่สนใจจะสอบในตำแหน่งนี้ และชื่นชอบในงานชุมชน ชอบทำงานร่วมกับประชาชน เน้นการลงพื้นที่เป็นหลัก ขอแนะนำเลยครับ 'นักพัฒนาชุมชน' เหมาะกับท่านเลย ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก่อน ขอเพียงใจรัก รับรองทำงานสนุกครับ
อปท. มีภารกิจหน้าที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนจึงเป็นอีกตำแหน่งที่สำคัญครับ
และอัตราการเรียกบรรจุก็ค่อนข้างสูงเช่นกันครับ บัญชีผู้สอบได้ทั้งประเทศ 10 กลุ่มภาค หมดเกลี้ยงบัญชีไปแล้ว 8 กลุ่มภาค เหลือเพียงอีกประมาณ 2 กลุ่มภาค และประมาณ 10 คนเท่านั้น แต่หลาย อปท. ก็ยังคงต้องการตำแหน่งนี้เข้ามาทำงานอยู่เช่นกันครับ
.../ ไว้กระทู้ถัดไปจะแนะนำตำแหน่งอื่นให้รับทราบต่อไปครับ
ส.เสือ ชุมชนคนท้องถิ่น
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [183.88.45.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|